อันมิตสึ หวานเย็นถั่วแดง (Anmitsu)

Wednesday, July 17, 2019

อากาศร้อน ๆ อย่างนี้นอกจากคากิโกริจะขายดีแล้ว อันมิตสึ รสหวาน เย็น ๆ ก็เป็นอีกเมนูหนึ่งซึ่งขายดีมาก ๆ นะคะ อันมิตสึเป็นขนมหวานญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีส่วนผสมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวุ้นคันเต็น ถั่วแดงกวน ชิราตามะดังโกะ ผลไม้เชื่อม ผลไม้สดตามฤดูกาล ราดด้วยนํ้าเชื่อมที่ทำด้วยนํ้าตาลดำ (kurozato) ต๊ะชอบเมนูนี้นะเพราะมันมีหลายรสในถ้วยเดียว นํ้าเชื่อมเราก็ใส่มากน้อยได้ตามชอบ หรือจะไม่ใส่เลยก็แล้วแต่ชอบ แต่นํ้าตาลดำอร่อยนะคะ ชอบ 😊 

คันเต็นเป็นวุ้นที่ทำจากสาหร่าย ไม่มึแคลอรี มีใยอาหารที่ละลายนํ้าได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารที่นิยมกินกันในช่วงลดนํ้าหนัก เพราะเอาจริง ๆ บางคนไม่ได้หิว แค่อยากเคี้ยวอะไรบางอย่าง แต่ต้องไม่ใส่นํ้าตาลนะคะ บอกกันไว้ก่อน คันเต็นมีรสชาติสดชื่น มีความกรอบกว่าวุ้นของไทย อันมิตสึหลาย ๆ สูตรอาจมีการเพิ่มนํ้าตาลลงไปบ้าง สูตรนี้ไม่ได้ใส่ค่ะ เพราะชินกับรสจืด ๆ ของคันเต็น และคิดเอาเองว่าจืด ๆ แบบนี้อร่อยกว่า เพราะเราได้รสหวานจากถั่วแดง และนํ้าเชื่อมแล้ว 


ชิราตามะดังโกะเป็นดังโกะที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวญี่ปุ่น (ชิราตามะโกะ) จริง ๆ แล้วแบบดั้งเดิมต้องเป็นสีขาวเท่านั้นค่ะเพราะ "ชิรา" หมายถึงสึขาว แต่ก็เห็นแบบประยุกต์ที่มีสีอื่น ๆ อยู่บ้างนะคะ วันนี้ต๊ะทำแบบธรรมดาไม่ได้เพิ่มความหวานอะไร ใส่นํ้าตาลลงไปประมาณ 1/2 ช้อนชา นวด ๆ แล้วเอาไปต้ม 

อันมิตสืมองผ่าน ๆ อาจจะดูทำยาก วุ่นวาย (ก็เคยคิดแบบนั้นมาก่อนเหมือนกัน) แต่จริง ๆ แล้วไม่เลยค่ะ ประมาณครึ่งชั่วโมงเราก็ประกอบทุกอย่างเสร็จแล้ว อาจจะมีถั่วแดงกวนซึ่งอาจจะต้องทำไว้ก่อนถ้าเราทำจากถั่วแดงดิบนะคะ แต่ยุคนี้การหาซื้อถั่วแดงกวนไม่ยากแล้วนะคะ แอบดูในเฟซบุคมีเยอะเลย แต่ถ้าใครไม่มีเวลาจะกวนถั่วแดงด้วยผงถั่วแดงก็ได้นะคะ อร่อยและใช้เวลาน้อยกว่าถั่วดิบมากอยู่ค่ะ

เอาล่ะค่ะ ตามมาดูสูตรอันมิตสึ หวานเย็นถั่วแดงที่ต๊ะทำกินกับซาดาโอะ และโคชิดีกว่า อร่อยน้า 

ส่วนผสม
ถั่วแดงกวน  ดูวิธีทำที่นี่
ผลไม้เชื่อม ผลไม้สดตามชอบ
ไอศกรีมวนิลา

สำหรับวุ้นคันเต็น
ผงวุ้นคันเต็น Kantenbaba (かんてんばば) 4 กรัม
นํ้าเปล่า 500 มล.

สำหรับชิราตามะดังโกะ
แป้งขิราตามะโกะ 50 กรัม
นํ้าตาล 1/2 ช้อนชา
นํ้าเปล่า 50 มล.

สำหรับนํ้าเชื่อม
นํ้าตาลดำ kurozato 50 กรัม
นํ้าเปล่า 50 มล.
วิธีทำ
1.ผสมผงค้นเต็นกับนํ้าเปล่าแล้วนำไปตั้งไฟให้เดือดปุด 2-3 นาที เสร็จแล้วเทใส่พิมพ์ ทิ้งไว้ให้เซ็ตตัวนะคะ เสร็จแล้วตัดเป็นก้อนเล็ก ๆ 


 2.  เอาแป้งชิราตามะโกะผสมกับนํ้าตาล และนํ้าเปล่านะคะ แนะนำว่าค่อย ๆ เท นะคะ นวดไปเติมนํ้าไป บางทีอาจใช้มากหรือน้อยกว่าสูตร แล้วแต่ความชื้นของแป้ง นํ้าตาลใส่ลงไปเพื่อเพิ่มความหวานอ่อน ๆ และช่วยให้ดังโกะนุ่มขึ้น ถ้าไม่อยากเพิ่มนํ้าตาลจะใช้เต้าหู้อ่อนแทนก็ได้ค่ะ

3. นวดจนแป้งนิ่มเหมือนติ่งหู รวบแป้งได้ไม่ติดมือ ปั้นแป้งเป็นวงกลมแล้วกดให้แบนนิดหน่อย
 4. เอาดังโกะไปต้มในนํ้าเดือด พอสุกลอยขึ้นให้ทิ้งไว้สักครู่ก่อนไม่ต้องรีบตักนะคะจะได้สุกถึงตรงกลาง เสร็จแล้วตักใส่อ่างที่มีนํ้าใส่นํ้าเย็น
5. ทำนํ้าเชื่อมด้วยการต้มนํ้ากับนํ้าตาลดำ เคี่ยวไปไฟอ่อน ๆ จนข้น
6. นำทุกอย่างมาวางในถ้วย ในญี่ปุ่นนิยมจัดเป็นวงกลมตามแนวขอบถ้วยนะคะ แต่เอาที่ชอบและเห็นว่าสวยน่ากินได้เลยค่ะ ไม่มีผิดถูก

7. โปะไอศกรีมวนิลาลงไป ถ้าไม่ชอบวนิลาเป็นรสมัทฉะก็ได้ค่ะ แต่รสอื่นขอไม่แนะนำเพราะรสชาติจะขัดกันเอง เสิร์ฟกับนํ้าเชื่อม

ลองทำกันดูนะคะ


You Might Also Like

0 comments

My Portfolio

กลุ่มเรื่องเล่าเบเกอรี่ญี่ปุ่น