ไก่ตุ๋นใส่หัวไชเท้าญี่ปุ่น (Braised Chicken Wings with Daikon)

Friday, September 08, 2017

กลับมาอีกครั้งนะคะ ช่วงนี้ต๊ะอาจจะมาได้ถี่เล็กน้อยเพราะเป็นช่วงที่งานอื่นๆ ไม่เยอะจนล้นมือ แต่อีกสักเดือนสองเดือนงานก็จะเริ่มชุกอีกครั้งเพราะใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนสี ต๊ะจะเริ่มมีงานถ่ายรูปเพิ่มขึ้นและอาจจะต้องเขียนงานอื่น แต่ก็จะพยายามมาอัพเมนูใหม่ๆ  และรักษาความสมํ่าเสมอไว้นะคะ เมนูวันนี้เป็นเมนูไก่ค่ะ ต๊ะชอบแชร์มเนูไก่ประมาณนึงเพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่ซื้อหากันได้ทั่วไป  อ่านกันแล้วถ้าสนใจจะทำ ก็จะหาส่วนผสมกันได้ง่าย ทำกันได้ไม่ต้องรอ

พูดถึงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแล้ว ถ้าไม่ใช่ไปเพราะเรื่องงาน ต๊ะมักจะไปที่เดิมๆ อย่างภูเขามิตาเกะ หรือนางาโทโร แต่ปีสองปีนี้เริ่มอยากมองหาโลเคชั่นใหม่บ้างอะไรบ้าง แต่ก็ยังไม่เจอที่ไหนที่ชอบเป็นพืเศษ ปีนี้ก็ว่าจะลองมองหาที่ใหม่ๆ ดู เผื่อจะมีที่ไหนที่โดนใจบ้าง ไว้จะมารีวิวให้อ่านกันนะคะ ช่วงหลังต๊ะไม่ค่อยจะได้เขียนเรื่องเที่ยวเท่าไหร่ เพราะถ้าไปก็มักจะต้องลงในเว็บลูกค้า ลงเนื้อหาซํ้าไม่ได้ เลยหาเรื่องเที่ยวมาลงใน blog ตัวเองไม่ค่อยจะได้ในช่วงหลัง 

พูดถึงเมนูวันนี้ดีกว่า ไก้ตุ๋นใส่หัวไชเท้ายี่ปุ่น ชื่อก็บอกล่ะแน่นอนว่าส่วนผสมหลักคือไก่และหัวไชเท้า นอกนั้นก็มีเครื่องปรุงอีกไม่กี่อย่าง ซึ่งซื้อหากันได้ไม่ยาก เมนูต้มตุ๋นลักษณะนี้ในญี่ปุ่นจะนิยมกินกันในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว แต่สำหรับคนที่อยู่เมืองร้อนคงจะทำกันได้ทั้งปี ตอนมาใหม่ๆ ต๊ะก็อยู่ในโหมดนี้เหมือนกัน อยากกินอะไรตอนไหนก็กิน บางทีต้มโอเด้งหน้าร้อน หรือ เป้ดฮีตเดอร์แล้วกินไอติมหน้าหนาวก็ทำบ่อยๆ มาปีนี้ถ้าใครตามอ่านจะรู้ว่าต๊ะเริ่มปรับโหมดมาเป็นแบบคนเมืองหนาว ถือว่าช้ามากนะคะ 

เอาล่ะค่ะตามมาดูสูตรไก่ตุ๋นใส่หัวไชเท้าญี่ปุ่น (Braised Chicken Wings with Daikon) ที่ต๊ะทำกินกับซาดาโอะ และโคชิดีกว่า อร่อยน้า 

ส่วนผสม
ปีกไก่ 10 ชิ้น
หัวไชเท้า 1/2 หัว ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นหนาประมาณ 1/2 นิ้ว
ไข่ต้มสุก 2 ฟอง
ดาชิ 500 มล.
โชยุ 3 ช้อนโต๊ะ
สาเก 3 ช้อนโต๊ะ
มิริน  2 ช้อนโต๊ะ
นํ้าตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
ขิงแก่ 4 แว่น
นํ้ามันคาโนลา 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
1. ใส่นํ้ามันลงในกระทะแล้วเอาปีกไก่ลงจี่พอสุก เสร็จแล้วใส่ไข่ต้ม ขิง กับหัวไชเท้าลงไป 

 2. เติมดาชิ โชยุ สาเก มิริน เสร็จแล้วใช้ฟอยด์ หรือซิลิโคนแบบต๊ะก็ได้นะคะ วางปิดลงไป ต้มไปเรื่อยๆ จนไก่และหัวไชเท้าสุกนุ่มดี ใช้ไฟค่อนข้างอ่อนนะคะ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างนี้ถ้านํ้าแห้งก็เติมลงไปได้ค่ะ
ถ้าไม่ชอบไข่ต้มแบบสุก หรือรู้สึกเหนียวก็ใช้ไข่ต้มยางมะตูมใส่แทนหลังจากต้มไก่สุกแล้ว แช่ในดาชิกับเครื่องปรุงไว้สัก 2- 3 ชั่วโมงก็ได้ค่ะ ต๊ะทำบ่อยๆ เวลาทำไข่พะโล้ ก็จะได้หน้าตาคล้ายแบบนี้ค่ะ 


ลองทำกันดูนะคะ


You Might Also Like

0 comments

My Portfolio

กลุ่มเรื่องเล่าเบเกอรี่ญี่ปุ่น