ชีสเค้กญี่ปุ่น (Japanese Cheesecake)
Tuesday, September 08, 2015
ก่อนที่ต๊ะจะอัพสูตรชีสเค้กสูตรนี้ ต๊ะคิดแล้วคิดอีกว่าจะอัพดีไหม เพราะไม่แน่ใจว่าโลกยังต้องการสูตรชีสเค้กญี่ปุ่นเพิ่มอีกสักสูตรรึเปล่า ก็ไม่ใช่ว่าสูตรอาหารสูตรขนมทุกสูตรใน blog นี้ เป็นสูตรเฉพาะหาอ่านที่อื่นไม่ได้หรอกนะคะ แต่ว่าสูตรชีสเค้กญี่ปุ่นมันมีเยอะมากจริงๆ มากจนต๊ะคิดอยู่ว่าลงแล้วจะมีคนเข้ามาอ่านหรือเปล่า แต่ก็นะคะในที่สุดก็ตัดสินใจลงอย่างที่เห็น เพราะชีสเค้กสูตรนี้มีดีที่ไม่หวานจัด ใช้ไข่น้อย (2 ฟอง) ไม่ใช้เนย ใช้ชีสไม่เยอะ ทำออกมาได้ความสูงสัก 1 นิ้วครึ่งเท่านั้นเองค่ะ เหมาะสำหรับทำทานกันในครอบครัวเล็กๆ หรือทำทานคนเดียว (อย่างหลังเนี่ยไม่แนะนำให้ทำบ่อยนะคะ)
ไหนๆ ก็ทำชีสเค้กแล้วขอคุยเรื่องชีสเค้กในญี่ปุ่นสักหน่อยนะคะ ชีสเค้กญี่ปุ่นมี 2 แบบด้วยกัน คือแบบธรรมดา และก็แบบเนื้อเบา (Light Cheesecake) แบบธรรมดาก็คือชีสเค้กที่เนื้อไม่หนักแต่ก็ไม่เบา นิยมขายเป็นของฝากเพราะจัดส่งง่าย เนื้อเค้กไม่บุบสลายระหว่างการเดินทางค่ะ จังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านชีสมากที่สุดคงไม่พ้นฮอกไกโดอย่างที่รู้กัน แต่จากประสบการณ์ในการชิมชีสในญี่ปุ่นมา 5 ปีรวด ชีสทางแถบโทโฮคุก็อร่อยเด็ดไม่แพ้กันนะคะ
เอาล่ะค่ะ ตามมาดูสูตรชีสเค้กญี่ปุ่นที่ต๊ะทำกินกับซาดาโอะ และโคชิดีกว่า อร่อยน้า
ส่วนผสม
ครีมชีส 200 กรัม
นํ้าตาล 60 กรัม แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กันนะคะ
แป้งเค้ก 40 กรัม
heavy cream 100 มล.
นมสด 50 มล.
ไข่ไก่ 2 ฟอง (แยกไข่แดงกับไข่ขาวเตรียมไว้)
แยมแอปปริคอตผสมกับนํ้านิดหน่อย
วิธีทำ
1.ตีครีมชีสกับนํ้าตาลส่วนที่หนึ่งจนฟูเบา ตามด้วยไข่แตง heavy cream นมสด และตามด้วยแป้งเค้กที่ร่อนแล้ว ผสมเบาๆ พอเข้ากันค่ะ
2. ตีไข่ขาวกับนํ้าตาลส่วนที่สองจนฟูเบาเหมือนครีมโกนหนวด เสร็จแล้วนำไปตะล่อมกับส่วนผสมข้อ 1 ใส่พิมพ์ไว้ค่ะ ต๊ะใช้พิมพ์ spring form เพราะเอาขนมออกจากพิมพ์ได้ง่าย แต่ข้อเสียคืออาจมีปัญหานํ้าเข้าได้แม้ว่าจะห่อด้วยกระดาษฟอยล์ 2 ชั้นแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากต๊ะยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว จึงยังขอเป็นสาวกต่อไปค่ะ
3. อุ่นเตาอบ และอบที่ 180 องศา 1 ชั่วโมง จากนั้นลดอุณหภูมิเหลือ 150 องศา อบต่อประมาณ 20-30 นาทีนะคะ จากนั้นพอเค้กสุกให้ทิ้งไว้ในเตาก่อนเปิดฝาไว้เล็กน้อยประมาณ 40 นาทีนะคะ เราจะค่อยๆ ลดอุณหภูมิของเค้กเพื่อไม่ให้เค้กหน้าแตกค่ะ
4. เอาแยมกับนํ้าเปล่าตั้งไฟให้ร้อน และเข้ากันดี จากนั้นใช้แปรงทาลงบนหน้าเค้กตอนที่เค้กยังอุ่นๆ นะคะ (จะทาง่ายกว่ามาก) แยมจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของเนื้อเค้กไม้ให้เค้กแห้งและเหี่ยว (เหมือนหน้าคนทำ) ระหว่างที่เราเอาเค้กเข้าตู้เย็นนะคะ
ขออภัยเป็นอย่างสูงที่ไม่ได้ถ่ายรูปทุกขั้นตอนนะคะ เพราะต๊ะทำตอนกลางคืนถ่ายรูปไม่สะดวกเท่าไหร่อีกอย่างเค้กสูตรนี้ทำง่าย ลำพังคำอธิบายต๊ะว่าก็สามารถทำตามได้ไม่ยากไม่เย็น ไม่เป็นปัญหา
ลองทำกันดูนะคะ
0 comments